วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก)
วัดสายพระป่า โดย พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก)
บ้านคำแคนพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ
ความสำคัญ : - พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต
- สำนักปฎิบัติธรรมที่อยู่บนภูทอกธรรมชาติอันสงบเงียบ
- วัดที่เป็นภูเขาทั้งลูก สังกัดคณะสงฆ์ : ธรรมยุต
ที่ตั้ง
วัดภูทอก หรือวัดเจติยาคิีรีวิหาร
ตั้งอยู่ที่บ้านคำแคนพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ
สภาพของวัด
วัดเจติยาคิรีวิหาร หรือ ภูทอกมีขนาดความสูง โดยวัดจากฐานถึงยอด 460 เมตร มีบันไดเรียงขึ้นตามชั้นต่าง ๆ 7 ชั้น และฐานชั้นที่ 6 วัดโดยรอบได้ 800 เมตร เป็นหน้าผาสูงชันมีที่ธรณีสงฆ์ 78 ไร่ 3 งาน 18 ตารางวา
ทิศเหนือ ยาว 192 เส้น 15 วา ติดต่อกับภูทอกใหญ่
ทิศใต้ ยาว 190 เส้น 10 วา ติดต่อกับถนนบ้านนาต้อง-บ้านศรีวิไล
ทิศตะวันออก ยาว 40 เส้น 10 วา ติดกับถนน ร.พ.ช. สายบึงกาฬ-บ้านโพธิ์หมากแข้ง
ทิศตะวันตก ยาว 35 เส้น 15 วา ติดกับทุ่งนาบ้านนาคำแคน-บ้านนาสะแบง
วัดเจติยาคิรีวิหาร หรือ ภูทอก ตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2483 โดยพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ ได้มาบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูวัว อำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย คืนหนึ่งได้เกิดนิมิตรขึ้นเห็นปราสาท 2 หลัง ลักษณะสวยงามมากอยู่ทางด้านภูทอกน้อย ดังนั้นพระอาจารย์จวนกุลเชฎโฐ จึงได้เดินทางมาพิสูจน์ตามที่เกิดนิมิตร และได้พบลักษณะภูมิประเทศที่สวยงานร่มรื่น เหมาะที่จะปฏิบัติธรรม จึงได้สำรวจ และปักกรดอยู่ที่ ถ้ำบนภูทอก กับพระครูศริธรรมวัฒน์ ต่อมาชาวบ้านคำแคนเห็นพระอาจารย์จวน ธุดงภ์มาอยู่ที่ภูทอก จึงพร้อมใจกันอารธนาให้สร้างวัด ขึ้นที่ภูทอก
ในปีพุทธศักราช 2512 ชาวบ้านนาคำแคนได้มาช่วยกันสร้างบันได้ขึ้นภูทอก จนถึงชั้นที่ 5-6 และได้ปลูกสร้างเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์อยู่ถึง 2 เดือน 10 วัน จึงเสร็จ
ในปีพุทธศักราช 2513-2514 พระอาจารย์จวน กุลเชตุโฐ ได้ชักชวนชาวบ้าน สร้างทำนบกั้นน้ำขึ้น 2 แห่ง เพื่อใช้เก็บกักน้ำ และจัดระบบน้ำประปาขึ้นภายในวัดภูทอก
นอกจากนั้น กองทัพอากาศดอนเมืองได้ถวายเครื่องไฟฟ้าแรงสูง สำหรับใช้ ภายในวัด 1 เครื่อง กรมวิเทศสหการได้ถวายพระพุทธรูป หล่อขนาดใหญ่เป็นประธาน 1 องค์ ไว้ที่วิหารชั้น 5 และบรรดาญาติโยมได้ช่วยกันสมทบทุนสร้างโรงฉัน และศาลาที่ชั้น 1 หลัง พร้อมกับการก่อสร้างสะพานลอยฟ้าไปรอบ ๆ ภูทอกในชั้นที่ 5 และชั้นที่ 6 และได้สร้างสถานที่บำเพ็ญเพียรภาวนา แทรกไว้ตาม จุดต่าง ๆ โดยรอบหน้าผา สิ้นค่าก่อสร้าง 45,000 บาท ซึ่งการก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเป็นการเจาะหินทำนั่งร้านด้วยไม้ เนื้อแข็ง 2 ท่อน ผูกติดกับเสาที่ปักไม้เท้าแขนลงไปแล้วจึงพาดไม้กระดานเป็นสะพานที่ละช่วง ๆ ละประมาณ 1 เมตร เศษ ระหว่างคาน จะมีคานรองรับอีกชั้นหนึ่ง จึงทำให้สะพานแข็งแรงมาก นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์แก่ผู้พบเห็นอย่างยิ่ง และเมื่อวันที่ 27 เมษายน พุทธศักราช 2523 พระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐได้รับนิมนต์ไปกรุงเทพฯ และได้ประสพอุบัติเหตุเครื่องบินตก ถึงแก่มรณภาพ สิริรวมอายุได้ 59 ปี 9 เดือน 18 วัน 38 พรรษา
ปีพุทธศักราช 2513 ได้ปรับปรุงการสร้างสะพานใน ชั้นที่ 5 โดยทำทางเดินให้เสมอกันและ ขยายให้กว้างขึ้น
ปีพุทธศักราช 2517 ได้ปรับปรุงสะพานในชั้นที่ 6 และทำสะพานในชั้นที่ 4 ให้อยู่ในสภาพที่ ใช้การได้ดี
ปีพุทธศักราช 2519 ได้จัดทำนบกั้นน้ำในเขตวัดและจัดทำถังน้ำบนภูเขาในชั้นที่ 5 และกุฎิ พระภิกษุ สามเณร กุฎิแม่ชี บนชะง่อนเขาในชั้นที่ 5 เพื่อให้ญาติโยมได้พักอาศัยด้วย
ปีพุทธศักราช 2523 ได้จัดทำถนนรอบภูเขา 3 ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ และภูสิงห์น้อยเพื่อ เป็นการกั้นเขตแดนวัด
พระประธาน (ชั้น ๕)
บันไดขึ้นภูทอก
การขึ้นภูทอกนั้น ท่านพระอาจารย์จวนเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกัน ดังนี้
ชั้นที่ ๑ เมื่อนักแสวงบุญเดินผ่านประตูสวรรค์เข้าไป แม้จะไม่มีป้ายบอก แต่ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณชั้นที่ 1 แล้ว ชั้นที่หนึ่งนี้นักแสวงบุญจะได้สัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพันธุ์
ชั้นที่ ๒ เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 (ดู ภาพประกอบ) เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อย ๆจะเห็นสถานีวิทยุชุมชนของวัดอยู่ด้านขวามือ ชั้นที่หนึ่งและสองมีทัศนียภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก
ชั้นที่ ๓ เป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง (ดูภาพประกอบ) ทางซ้ายมือเป็นทางลัดผ่านชั้น 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลยซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน ผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ส่วนทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 แล้ววกขึ้นชั้นที่ 5 เป็นทางอ้อม (ขอแนะนำว่าควรขึ้นทางนี้ แล้วลงทางนั้น(ทางลัด))
ชั้นที่ ๔ เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศ ตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด ชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
ชั้นที่ ๕ หรือชั้นกลาง เป็นชั้นที่สำคัญที่สุดแต่ไม่ได้สวยที่สุด (สวยที่สุดคือชั้น 6) มี ศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6
พุทธ วิหาร แปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่พระอริยหลายองค์มาพักผ่อนและละ สังขารที่นี่ มีลักษณะที่แปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด คล้ายกับพระธาตุอินทร์แขวนที่ประเทศพม่า ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร
ใน อดีตก่อนที่จะมีการสร้างสะพานไม้เชื่อมต่อ บุคคลธรรมดาไม่อาจข้ามมาที่พุทธวิหารได้ เพราะมีหุบเหวขวางกั้น แต่มีบุคคลอยู่ประเภทหนึ่งที่สามารถปรากฎตัวที่พุทธวิหารได้ คือพระอรหันต์และท่านผู้ทรงอภิญญา ท่านเหล่านี้จะมาพักผ่อนที่พุทธวิหารเองโดยการเดินบนอากาศหรือเหาะข้ามมา เพราะต้องการปลีกวิเวกและไม่ให้ใครมารบกวนได้ ดังนั้น หินประหลาดก้อนนี้จึงถูกเรียกว่า พุทธวิหาร ซึ่งแปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้บรรลุแล้ว
ใน ปัจจุบันแม้ว่าจะมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหารแล้ว ก็ตาม แต่นักแสวงบุญทั่วไปก็ไม่อาจเข้าไปสัมผัสพุทธวิหารใกล้ชิดกว่านี้ได้ เพราะทางวัดปิดประตูไว้ เนื่องจากเทวดาที่รักษาพระบรมสารีริกธาตุทนเหม็นกลิ่นสาบมนุษย์ไม่ไหว ทางวัดจึงอนุญาตให้นักแสวงบุญมาได้แค่ปากประตูเท่านั้น (แค่นี้ก็ดีแล้ว)
ความ อัศจรรย์ของพุทธวิหาร คือ หินก้อนนี้แยกตัวออกมาจากหินก้อนใหญ่แล้ว แต่ไม่ตกลงมา เพราะตั้งอยู่ได้ฉากกับพื้นโลกพอดี ข้อนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่รู้ เพราะไม่ค่อยสังเกต หากอยากเห็นชัด ๆ ให้เดินมาที่ฐานของพุทธวิหาร จะเห็นได้ชัด หรือสังเกตุดูที่ภาพถ่ายก็ได้ การที่พุทธวิหารตั้งอยู่ได้โดยไม่ตกลงมาถือได้ว่า น่าอัศจรรย์พอ ๆ กันกับพระธาตุอินทร์แขวน
สะพานหิน ยาวทอดตัวออกมาจากภูทอก ยื่นออกมาทางพุทธวิหาร (ดู ภาพประกอบ) เมื่อยืนบนสะพานหินจะสามารถมองเห็นภูทอกใหญ่และมองเห็นทัศนียภาพสองฟากฝั่ง ได้อย่างชัดเจน รวมทั้งสูดอากาศที่บริสุทธิ์ด้วย คล้ายกับอยู่บนสรวงสวรรค์ก็มิปาน
สะพานไม้ มีความยาวประมาณ 10 เมตร เป็นสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินและพุทธวิหาร เป็นดุจสิ่งที่เชื่อมต่อโลกสวรรค์และแดนนิพพานเข้าด้วยกัน เมื่อยืนอยู่บนสะพานไม้แล้วมองลงไปด้านล่าง จะเห็นแต่ต้นไม้และหุบเหวที่ลึกสุดหยั่ง (คนขวัญอ่อนมิควรมองลงไป) จะทำให้ทราบว่า บุคคลที่สามารถข้ามจากสะพานหินเพื่อไปบำเพ็ญเพียรหรือพักผ่อนที่พุทธวิหาร ได้ ต้องมิใช่บุคคลธรรมดา
เมื่อมาถึงชั้นที่ 5 แล้ว ต้องมาที่สะพานหิน สะพานไม้ และข้ามมาที่พุทธวิหารให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามาไม่ถึงภูทอก (อย่าลืมถ่ายรูปไว้ด้วย)
ชั้นที่ ๖ เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา มีความยาว 400 เมตร เป็นชั้นที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตุคือมีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ ขังอยู่เกือบตลอดปี (ดูภาพประกอบ)
การถ่ายภาพพุทธวิหารให้ได้ภาพงดงามที่สุด ต้องถ่ายซูมจากชั้นที่ 6
ชั้นที่ ๗ จากชั้นที่หกขึ้นมาชั้นที่เจ็ด จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทาง แรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งและรากไม้โหนตัวขึ้นด้านบน นักท่องเที่ยวจะได้ความสนุกผจญภัยดุจขึ้นเขาคิชฌกูฏ(จันทบุรี) อีกทางหนึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่จะมาบรรจบกันด้านบน ทางนี้เหมาะสำหรับคนแรงน้อย คนเฒ่า-คนแก่และเด็ก ๆ
สำหรับชั้นที่เจ็ดบนดาดฟ้านั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นชั้นมหัศจรรย์อีกชั้นหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวบางคนประทับใจมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ มีเพียงป่ากับต้นไม้ ส่วนบางคนไม่ประทับใจเลย บอกว่าไม่เห็นมีอะไร ส่วนพวกนักท่องเที่ยวผู้มีตาทิพย์หรือมีญาณวิเศษก็บอกว่า ต้นไม้บนดาดฟ้าชั้นที่เจ็ดเป็นวิมานของพวกเทวดาเต็มไปหมด ดังนั้น คนที่ไม่มีบุญหรือบุญไม่พอ จะไม่มีโอกาสได้มาถึงชั้นเจ็ดอย่างแน่นอน ถึงเดินมาก็มาไม่ถึง หรืออาจเดินหลงทางหรือหาทางขึ้นไม่เจอก็เคยมี
นักท่องเที่ยวผู้มาจากแดนไกล เมื่อมีโอกาสแล้ว ควรหาโอกาสปีนมาให้ถึงชั้น 7 จะได้ไม่คาใจ (สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น)
หมายเหตุ
ชั้น 3 - 6 สามารถเดินเวียนรอบได้ ส่วนชั้นนที่ 5 - 7 เป็น แดนสวรรค์ เป็นที่อยู่ของเทวดาชั้นสูง นักแสวงบุญหรือนักท่องเที่ยวต้องสำรวมระวังกาย วาจา และใจให้มาก ถ้าจะให้ดีกว่านั้นหรือถ้ามาเป็นหมู่คณะ ควรรวมกลุ่มกันสวดมนต์สรรเสริญพระรัตนตรัยให้เหล่าเทพฟังด้วยก็จะดี เป็นการนำบุญมาฝาก
ภูทอก คือแดนสวรรค์ที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้โดยที่ไม่ต้องรอให้ตายจริง
ข้อควรปฏิบัติก่อนขึ้นเขา
เนื่อง จากวัดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทัศนาจร หากแต่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวพุทธเป็นสำคัญ ผู้เข้าเยี่ยมชม-กราบไหว้ควรปฏิบัติตามกฎที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ
๑. ห้ามนำสุรา-อาหารไปรับประทานบนยอดเขาโดยเด็ดขาด
๒. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณรที่กำลังภาวนา
๓. ห้ามขีดเขียนสลักข้อความลงบนหิน
๔. ห้ามทำลามกอนาจารฉันท์ชู้สาวและควรแต่งกายให้สุภาพ
(อสุภาพสตรี (แปลว่า สตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ) นุ่งน้อย-ห่มน้อย-เสื้อ-กระโปรง-กางเกงสั้น ห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด)
สาเหตุที่ห้าม
๑. เนื่องจากที่แห่งนี้มีนาค (งู) อาศัยอยู่มาก และงูเหล่านี้ถือศีลงดกินเนื้อสัตว์ หากได้กลิ่นอาหารจะทำให้ตบะแตกแล้วเลื้อยออกมาหาอาหาร จะทำให้นักท่องเที่ยวพบสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์และจะเป็นอันตรายสำหรับ ภิกษุ-สามเณรที่อยู่ประจำ
๒. หากอนุญาตให้นำอาหารไปทานบนภูทอกได้ ไม่ช้าภูทอกก็จะเต็มไปด้วยขยะ ระบบนิเวศน์และทัศนียภาพที่สวยงามจะเสียหาย
๓. อสุภาพสตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ ทำให้บุรุษเพศหรือภิกษุ-สามเณรเห็นแล้วเกิดความกำหนัดคือเกิดกิเลส แม้มนุษย์ด้วยกันจะไม่รู้ แต่เทพยดาที่นี้จะรู้ ดังนั้นจึงได้ห้ามเด็ดขาด
การเดินทาง
ภูทอกอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 185 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไลมีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคน ถึงภูทอกเป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตร
พุทธวิหาร
|